สรุป Clubhouse เปิดหมดเปลือก EP.1 คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์
สรุป Clubhouse เปิดหมดเปลือก EP.1 คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์
Tech
5 นาที
12 พ.ค. 2021
แชร์
Table of contents
เปิดหมดเปลือก กลุ่มคนไทยไฟแรงที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์ เผยเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน คน และเงิน ทำไมสถานที่แห่งนี้จึงดึงดูดคนเก่งด้านเทคฯจากทั่วโลกได้
พูดคุยกับ Speaker
คุณพินพิน พิณนรี ธีร์มกร Data Scientist ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ Sasin มากพร้อมในประสบการณ์การทำ Startup ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะใน Silicon Valley
คุณพิม อัญญดา อัศวโภคิน Research Assistant จากมหาวิทยาลัย Stanford ที่มีโอกาสได้ทำงานใน Silicon Valley กับประสบการณ์การทำงานด้าน Management Science & Engineering
คุณชาลี พิสุราช Software Engineer ประจำ Robinhood (Trading App ที่ US) ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Silicon Valley อดีต Software และ Production Engineer ที่บริษัท Wing และ Facebook
_______________________________________________________
ทำอย่างไรถึงเข้าไปทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์ได้?
[คุณพินพิน] การสัมภาษณ์จะต่างกับบริษัททั่วไปตรงที่บริษัท tech จะทดสอบให้ทำโจทย์ ถามปัญหาเชาว์ หลังจากนั้นจึงให้ไปคุยกับทีมที่ต้องทำงานด้วยจริง ถ้าเป็นงานฝั่ง business จะต้องแข่งกับคน local เยอะ
[คุณชาลี] ต้องซ้อมทำโจทย์เยอะๆ เพื่อให้เห็นแพทเทิร์น อย่างผมเข้า Facebook โดนสัมภาษณ์ไป 7 รอบ โดยเป็น On-site Test 5 รอบ
การทำงานที่ไทยกับที่ซิลิคอนวัลเลย์ต่างกันอย่างไร?
[คุณพินพิน] ถ้าเทียบกับบริษัทไทยคือบริษัทที่อเมริกาจะเถียงกันเยอะ พูดตรง หลังจากจบการเถียงก็ไม่นำมาใส่ใจ เปิดรับไอเดียใหม่ๆ ยอมรับการล้มเหลว เพราะการล้มเหลวคือเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรใหม่ๆ ถ้าเป็นแนว Startup คิดว่าเดี๋ยวนี้ไทย-อเมริกาเริ่มมีความคล้ายๆกัน
[คุณชาลี] งานที่นี่จะค่อนข้าง Innovative ล้ำๆ ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เช่น Drone Delivery (บริการส่งของด้วยโดรน) มี Ecosystem และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเรื่องเหล่านี้มากกว่า ถ้าเป็นที่ไทยจะค่อนข้างต้องการสิ่งที่ใช้งานได้ทันที ทำกำไรเลย แนว Research จะน้อยกว่า
สิ่งที่ดีที่สุดในการทำงานที่ซิลิคอนวัลเลย์?
[คุณพิม] คนค่ะ ผู้คนเต็มไปด้วยไอเดียและมีเป้าหมายที่อยากจะสร้าง Impact และก็แชร์ข้อมูลกัน รู้สึกเหมือนเติมไฟทุกวัน ไม่ใช่ว่าทุกคนอวยไอเดียกัน มีการยิงเหมือนกันแต่วิจารณ์แบบ Constructive
[คุณพินพิน] รู้สึกซิลิคอนวัลเลย์ไม่ใช่อเมริกาขนาดนั้น แต่เป็นสถานที่ที่รวมคนจากทั่วโลก ทำให้รู้สึกว่าคนค่อนข้าง Open เปิดรับความคิดใหม่ๆ ยอมรับกันและกัน ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ไม่ค่อยมีพิธีรีตอง ไม่ต้องกลัวโดนตัดสินที่ภายนอก
[คุณชาลี] Culture ของที่นี่ครับ open มาก ไม่มองว่าไอเดียเป็นไอเดียไร้สาระ หรือเป็นไปไม่ได้ ทุกไอเดียมีคุณค่าที่จะ Explore ดู และ Culture การทำงานคือค่อนข้างมีความตรงไปตรงมา ไม่มีเรื่องระบบอาวุโส
อะไรที่ทำให้ซิลิคอนวัลเลย์ประสบความสำเร็จด้าน Tech
[คุณชาลี] เพราะ Culture แบบพร้อมที่จะรับฟัง ลองทดสอบไอเดีย และกล้า Challenge ไอเดียกัน
[คุณพินพิน & คุณพิม] เพราะสภาพอากาศที่นี่ดีทั้งปี ทำให้คน Happy ทำงานได้ตลอดทั้งปี ด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีก็ดึงดูดคน มีความสามารถ และ Ecosystem ที่ดีๆ มีมหาลัยดังๆให้เข้าไปอยู่ที่นั่น
โอกาสของคนไทยในซิลิคอนวัลเลย์?
[คุณพิม] ความเป็นคนไทยไม่เกี่ยว เค้าไม่ได้สนใจเชื้อชาติขนาดนั้น สุดท้ายเราก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับที่นั่น เรื่องภาษา สร้าง network และโปรไฟล์ที่ดี เข้าใจวิธีการทำงานของ ทุกคนมีโอกาสเหมือนกัน ที่ซิลิคอนวัลเลย์ส่งเสริมความหลากหลาย
[คุณพินพิน] ระบบการเรียน การเตรียมพร้อมอาจจะทำให้คนต่างกัน เด็กที่นู่นเรียนจบแล้วหา internship เลย หรือทำ research group เด็กจะได้รับการฝึกค่อนข้างพร้อมเรื่องการทำงาน ถ้าเป็นเด็กที่อยู่เมืองไทยอาจจะไม่รู้ แต่ตอนนี้มี google มี clubhouse อาจจะสามารถลดข้อเสียเปรียบได้
[คุณชาลี] ในซิลิคอนวัลเลย์ก็มี startup ของคนไทยอยู่เหมือนกัน อย่างน้อย 2 ที่ที่ผมรู้จัก นอกจากนี้คนที่นี่ยังมีระบบการเรียนแบบเน้น Learn to learn คือเรียนให้รู้ว่าเรียนยังไง ไม่ใช่แค่ได้วิชาความรู้ และตอนเรียนจบต้องทำงานเป็นนะ ตอนจบจะมีโปรเจคให้คิดขึ้นมาเอง
Soft-infrastructure ที่ทำให้ซิลิคอนวัลเลย์เกิด Innovation และ Creativity
[คุณชาลี] เรื่อง Funding มีนักลงทุน หลายเจ้าที่เราไปหาได้ สิ่งนี้สำคัญมาก
[คุณพินพิน] มีบางบริษัทที่เน้นลงทุนเป็นด้านๆ เช่นเน้นลงทุนเรื่อง Sustainability กับ Healthcare ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเป็น startup ระดับ Unicorn ก็มี Resource และ Mentor คอยสนับสนุน
[คุณพินพิน & คุณพิม] ที่นี่กล้าจ่ายค่าสมองด้วย เช่น มีอยู่ปีหนึ่งที่บริษัท Dropbox จ่ายค่าจ้างเด็กฝึกงาน 200,000 บาท/เดือน การให้ค่ามันสมองอาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรม เค้าเห็นคุณค่าของการสร้าง Innovation แต่จ่ายเยอะก็คาดหวังเยอะเหมือนกัน ถ้าทำงานไม่ได้ก็เปลี่ยนตัวเลย ไม่ได้มองว่ายังเด็กอยู่
[คุณชาลี]
โดยเฉพาะที่ Facebook ถือคติว่า “Up or Out” ถ้าคุณไม่โต ก็ต้องออก ซึ่งเป็นการผลักดันให้คนทำงานให้ดี
เป็นไปได้ไหมที่จะเอา culture แบบซิลิคอนวัลเลย์มาใช้ในไทย?
[คุณชาลี] เป็นไปได้ครับ ถ้าผู้นำในองค์กรยอมรับได้ว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนมีอะไรบ้าง ยอมให้เด็กเป็นผู้นำบ้าง ให้อำนาจคนข้างล่างบ้าง
[คุณพิม] ต้องให้เด็กเริ่มทำ แต่ถ้าเด็กไม่สามารถทำงานได้ ต้องไม่ใจอ่อน ต้องเด็ดขาด ถ้าทำได้จริงจะส่งเสริมให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
[คุณพินพิน] อีกเรื่องที่สำคัญคือการลองทำ และเอา Feedback มาปรับเปลี่ยน หรือที่เรียกว่า Design thinking อะไรคิดว่าดีลองทำเลย ทำแล้วก็ต้องดู Feedback ยอมรับ และกล้าเปลี่ยน สุดท้ายจะเจอสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด
[คุณชาลี]
เป็นเรื่องของ continuous learning process ด้วย ไม่ใช่ว่า technology หนึ่งเข้ามาแล้วจะอยู่ตลอดไป มันจะมีสิ่งใหม่ๆ และดีกว่าเข้ามาให้เรียนรู้อยู่ตลอด
แรงจูงใจหรือความภูมิใจของคนที่ทำงานในซิลิคอนวัลเลย์
[คุณพินพิน] ความอยากสร้าง Impact ให้สิ่งที่ตัวเองทำได้ถูกนำไปใช้จริง และเมื่อโตขึ้นก็อยากจะกลับมาเป็นผู้ให้ เป็น Mentor ให้รุ่นน้องในสายอาชีพ หรือเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน
[คุณชาลี] เราได้ทำงานในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ทำในสิ่งที่เท่ ใหม่ ไม่ค่อยมีคนทำ เป็นคนสร้างพื้นฐานให้กับอนาคต ก็คือการสร้าง Impact แหละ
[คุณพิม] ที่ไทยถ้าจะ Promote ต้องเป็นหัวหน้าทีม ดูแลทีม แต่ที่นี่เป็น Specialist ก็ Promote ได้อาจจะไม่ได้ถนัดบริหารคนก็ไม่เป็นอะไร อย่าง CEO ของหลายที่ก็เป็นคนสาย Technical มาก่อน แล้วค่อยมาเสริมเรื่องบริหารภายหลัง
คิดอย่างไรกับคำว่า “สมองไหล”?
[คุณชาลี] คิดว่าทุกประเทศมีปัญหานี้หมด เพราะที่อเมริกามีโอกาส แต่ตอนนี้บางประเทศเช่น จีน เกาหลีก็เริ่มมีโอกาสมากขึ้นคนก็เริ่มกลับไป ดังนั้นวิธีแก้คือต้องมีโอกาสให้คน
[คุณพิม] คนเราถ้าเลือกได้ คิดว่าก็ไม่มีใครอยากจากบ้านมา แต่เพื่อโอกาสที่หาไม่ได้ที่ไทยก็อาจจะทำให้คนย้ายถิ่นฐาน ถ้าที่ไทยก็มีโอกาสคนเก่งก็อาจจะกลับมามากขึ้น
แชร์เทคนิคหางานในซิลิคอนวัลเลย์
[คุณพิม] ถ้ามีโอกาส การไปเรียนต่อที่อเมริกาก่อนจะช่วยได้เยอะ ถ้าจะหางานจากที่ไทยไปเลย น่าจะต้องมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทที่มีชื่อระดับโลกก่อนพอสมควร และการหา Connection ใน LinkedIn หาคนที่โปรไฟล์คล้ายๆกับเรา แล้วปรึกษาเค้า
[คุณชาลี] Visa ก็สำคัญ ตอนนี้ขอยาก อีกประเทศที่น่าสนใจคือ Canada Visa ง่ายกว่า แต่ตลาดงานไม่เยอะเท่าอเมริกา อาจจะไปขอ Visa แคนาดาและทำงานแบบ Remote แทน แต่ถ้าเรียนที่นี่จะได้ Visa ทำงาน 1-3 ปีแล้วแต่สายงาน อีกวิธีคือทำงานบริษัทอเมริกันในประเทศอื่น เช่น Google ญี่ปุ่น ไต้หวัน แล้วค่อยขอ Visa ย้ายมา
ฝากสำหรับคนที่ฝันอยากไปทำงานอเมริกา
[คุณพินพิน] ขอให้เตรียมตัว เตรียมใจมาลำบาก ทั้งเรื่องภาษาวัฒนธรรม อาหาร ไม่ได้มีแต่สิ่งที่สวยหรู แต่มันทำให้เราเรียนรู้และแข็งแกร่งมากขึ้นในการปรับตัว ปัญหาชีวิตต่างๆที่เจอที่ไทยหลายเรื่องก็ต้องเจอที่นี่เหมือนกัน
[คุณพิม] ก่อนจะไปต้องเตรียมตัวให้เยอะๆ ทำการบ้านศึกษาเกี่ยวกับอนาคตว่าเราจะไปทำอะไร เวลามันผ่านไปเร็วมากต้องวิ่งให้ทันคนอื่น